วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา, กรรมฐานทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงการปฏิบัติธรรมที่ใช้สติเป็นหลัก
วิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญได้ โดยการพิจารณาสภาวธรรมหรือนามรูป คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะอินทรีย์ให้เห็นตามความเป็นจริง คือ เห็นด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านี้ ตกอยู่ในสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มุ่งอบรมปัญญาเป็นหลักคู่กับ สมถกรรมฐาน ซึ่งมุ่งบริหารจิตเป็นหลัก ในคัมภีร์ทางพระศาสนาทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่ว ๆ ไปมักจัดเอาวิปัสสนาเป็นแค่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เพราะในวิภังคปกรณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ก็ยังพอจะอนุโลมเอาวิปัสสนาว่าเป็นภาวนามยปัญญา[ต้องการอ้างอิง] ได้อีกด้วย เพราะในฎีกาหลายที่ท่านก็อนุญาตไว้ให้ ซึ่งท่านคงอนุโลมเอาตามนัยยะพระสูตรอีกทีหนึ่ง และในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคท่านก็อนุโลมให้เพราะจัดเข้าได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุข้อ 10.
รายละเอียดวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือการเจริญปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 ดังบรรยายไว้โดยละเอียดในมหาสติปัฏฐานสูตร ในพระไตรปิฎก
ระหว่างปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังมนสิการขันธ์ 5 อย่างหนึ่งอย่างใดอยู่โดยไตรลักษณ์ ผู้ปฏิบัติอาจเกิดวิปัสสนูปกิเลส (คือ อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา 10 อย่าง) ชวนผู้ปฏิบัติให้เข้าใจผิด คิดว่าตนได้มรรคผลแล้ว คลาดออกนอกวิปัสสนาวิถีได้